เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ธัชชา วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “อว. พารู้ พารัก รากเหง้าแผ่นดินไทย” โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสารคดีประวัติศาสตร์ 3 เรื่อง 3 รส ได้แก่ มรสุมแสงดาว เกลือศาสตร์ และ แพรวพราว สารคดีที่ถูกสืบค้นโดยนักวิชาการโบราณคดี จาก ม.ศิลปากร ผ่านมุมมองที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน และพร้อมชวนทุกคนออกไปสัมผัสรากเหง้าภูมิปัญญาในอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน และการต่อยอดสร้างโอกาสในอนาคตไปพร้อมกัน
โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขึ้นกล่าวถึงวัตถุประสงค์และแนวคิดของโครงการฯ “ประเทศไทยเรามีทรัพย์สินที่มีค่ามากมาย และแผ่นดินที่เราอยู่มีอารยธรรมมากกว่า 2,500 ปี มีหลากหลายเส้นทางในการทำพาณิชยกรรม จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเป็นหนังสารคดี 3 เรื่อง ทั้ง มรสุมแสงดาว เกลือศาสตร์ และแพรวพราว ที่เป็นสารคดีทรงคุณค่าอย่างมาก และเชื่อว่าถ้าทุกคนได้ดูแล้วจะเกิดความภูมิใจที่บรรพบุรุษของเราเลือกที่จะมาอยู่ในแถบนี้ทำให้เราได้ตระหนักว่า เรามีทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเมื่อเราพัฒนาต่อไปมันจะยิ่งทันสมัย กลายเป็นสมบัติของโลก และสามารถสร้างรายได้ให้กับคนไทยที่ทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เหล่านี้ จึงอยากนำของดีที่มีอยู่เผยแพร่สู่คนรุ่นใหม่และคนทั่วโลกผ่านสารคดีชิ้นนี้ และถือโอกาสขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ถ้าไม่มีพวกเขาผลงานชิ้นนี้คงเป็นเพียงแนวคิดและนโยบาย และถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะพา Soft Power ไปสู่อนาคตได้ เชื่อมั่นว่า DNA ของคนไทยนั้น เป็นคนที่เก่ง เก่งทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ วิทยาการ ศิลปะ สุนทรียะ และอารยะ และถ้าทุกคนได้ดูสารคดีทั้ง 3 เรื่องนี้ จะพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอนาคตอย่างมาก”
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือในการเผยแพร่สารคดีจากโครงการ อว. พารู้ พารัก รากเหง้าแผ่นดินไทย ในครั้งนี้ “ในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะ พันธกิจที่สำคัญของไทยพีบีเอส คือการขยายและต่อยอดคุณค่าของวัฒนธรรม รากเหง้า ภูมิปัญญาของความเป็นไทย ให้ถูกขยายผลและยั่งยืนต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น และการที่เราจะทำบทบาทนี้ให้ดี ไทยพีบีเอสเองต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรเครือข่ายโดยเฉพาะองค์กรที่มีทั้งความรู้ นโยบาย และทิศทางที่เด่นชัด อย่างเช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้ร่วมมือกันในครั้งนี้ ส่วนจุดแข็งของความร่วมมือในโครงการนี้ คือการทำให้ความรู้ที่มาจากรากเหง้าแผ่นดินไทย มาสร้างสรรค์เป็นสื่อที่ดูได้อย่างเข้าใจง่าย สวยงาม และสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ดึงดูดผู้ชมในทุก ๆ แพลตฟอร์มของไทยพีบีเอสได้ และหวังว่าจะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจ ได้เข้ามาร่วมขยายผลความรู้ และคุณค่าเหล่านี้ต่อไปได้อีก นอกจากนั้น ไทยพีบีเอส มีแผนตลอดปี 2566 นี้ที่ตั้งใจอยากเป็นส่วนสำคัญของประเทศในการนำเอา Soft Power ไปเผยแพร่ในระดับสากล การความร่วมมือในการผลิตสารคดีชุดนี้จึงจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายเรื่อง Soft Power ของประเทศไทยได้”
คุณคริษ อรรคราช รก.ผอ.สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา ไทยพีบีเอส เผยถึงการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การทำเป็นสารคดี “ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยาก แต่ก็เป็นความโชคดีที่ไทยพีบีเอสมีพันธมิตรที่เคยร่วมงานมาโดยตลอด จึงชวนมาทำสารคดีร่วมกัน และมองเป้าหมายเดียวกัน เพราะเราอยากจะส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ไปให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาดูและเกิดความเข้าใจ และเมื่อเราเข้าใจอย่างท่องแท้มันจะเป็นประโยชน์ในอนาคตของพวกเขาต่อไปได้ ต้องขอขอบคุณพันธมิตรร่วมมือกันผลิตผลงานจนทำให้เราขับเคลื่อนกันต่อไปได้ และที่สำคัญที่สุดสารคดีชุดนี้มีน้อง ๆ คนรุ่นใหม่มาร่วมแสดง จึงคิดว่ามีเสน่ห์น่าดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับชมอีกด้วย”
อาจารย์ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ ประธานโครงการฯ เผยว่า “สารคดีชุดนี้สะท้อนในเรื่องของความรุ่งเรืองที่มีมานานนับพันปี ทั้งการค้า การตั้งถิ่นฐาน และทรัพยากรที่มีส่งผลให้เรามีความมั่งคั่ง การเกิดสยามหรือประเทศไทยจึงเป็นรากเหง้าที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และสิ่งเหล่านี้จะสามารถส่งต่อให้คนรุ่นใหม่มองเห็นว่า ที่ที่เราอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้นับหนึ่งใหม่ แต่มันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ เกิดจากคุณค่า และสิ่งที่มีความหมายที่อยู่ในประเทศของเรานั่นเอง จึงน่าสนใจที่จะนำของเหล่านี้มาต่อยอด และก้าวต่อไป นั่นก็คือความรุ่งโรจน์ ดังนั้นอยากจะเชิญชวนทุกคนมารับชม ไม่เพียงแค่คนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ แต่เรื่องนี้น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ย่อยง่าย ดูง่าย และที่สำคัญคือการรับชมแล้วกระตุกต่อมคิดว่า แท้ที่จริงแล้ว ที่ ๆ เราอยู่นั้นมีความหมาย มีคุณค่า และสามารถนำคุณค่าเหล่านี้มาต่อยอดต่อไปได้ในอนาคต”
ในงานนี้ ยังมีเวทีเสวนา “อว.พารู้ พารัก รากเหง้าแผ่นดินไทย” ร่วมพูดคุยกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญและทีมงานที่อยู่เบื้องหลังงานผลิตสารคดี รวมถึงชิ้นงานอื่น ๆ ในโครงการ นำทีมโดย
§ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
§ คริษ อรรคราช รก.ผอ.สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา ไทยพีบีเอส
§ ผศ.ดร.ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มศก.
§ ภัทราพร สังข์พวงทอง โปรดิวเซอร์ บริษัททีวีบูรพา
§ มานิดา นฤภัทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธีมเมติก จำกัด
§ เจนไวยย์ ทองดีนอก ผู้กำกับการแสดง บริษัท แบรนด์ธิงค์ จำกัด
§ ศิวัช เดชารัตน์ ผู้กำกับรายการ บริษัท วันนี้วันดี จำกัด
§ ธนภูมิ มณีชาติ ผู้ช่วยผู้กำกับและตัดต่อรายการ บริษัท วันนี้วันดี จำกัด
ในวงเสวนานอกจากจะพาทุกคนไปสัมผัสรากเหง้าภูมิปัญญาของคนไทย สะท้อนประวัติศาสตร์ ที่เป็นทั้งความบันเทิง และเครื่องมือสื่อสารที่บอกเล่าและเชื่อมโยงอดีตมาสู่ปัจจุบัน ต่อยอดไปสู่อนาคต จากทีมผู้ผลิตสารคดีทั้ง 3 เรื่องแล้ว ยังนำเสนออีกหลากหลายชิ้นงานที่ร่วมสื่อสารในโครงการนี้ด้วย
· ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “The Past Words เปิดรหัสสยาม” ที่พาไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน และเราสามารถทำนายอนาคตผ่านเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและมีความสำคัญในอดีตที่ผ่านมาได้
· กิจกรรมการจัดประกวดภาพยนตร์สั้น “แก่นไทย เชื่อมไทย เชื่อมโลก” เป็นการเปิดโลกเชื่อมจินตนาการของเยาวชนไทยทั่วประเทศ ในอนาคตหวังอยากจะส่งเสริม และผลักดันให้หนังสั้นประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ไปสู่ระดับสากลหรือเวทีโลก
· อีกหนึ่งผลงานจากวรรณคดี สู่เกมอนิเมชัน “The VERSE” จากสุดยอดฝีมือคนไทยของ ผศ.ดร.ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มศก. ร่วมกับพันธมิตรได้พัฒนาเกมผจญภัยไขปริศนาที่นำเสนอเรื่องราววรรณคดีไทยของ “สุนทรภู่” มาดัดแปลงให้ร่วมสมัยเพื่อให้คนรุ่นใหม่และคนทั่วโลกได้รู้จักและเข้าถึงความเป็นไทยได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ สามารถติดตามรับชมถ่ายทอดสดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "อว.พารู้ พารัก รากเหง้าแผ่นดินไทย" ย้อนหลังผ่านทาง Facebook Fanpage : @ThaiPBS, @VIPAdotMe, @SaradeeThaiPBS
ติดตามรับชม สุดยอดสารคดีประวัติศาสตร์ 3 เรื่อง “มรสุมแสงดาว, เกลือศาสตร์ และ แพรวพราว” ได้แล้ว วันนี้ ทาง www.VIPA.me และรับชมผ่านหน้าจอไทยพีบีเอส ได้ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 21.10 น. ตอน “มรสุมแสงดาว”, วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 21.10 น. ตอน “เกลือศาสตร์” และ ตอน “แพรวพราว” วันที่ 5 มีนาคม 2566 เวลา 21.10 น. ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และช่องทางออนไลน์ที่ www.thaipbs.or.th/live รับชมอีกครั้งทาง www.VIPA.me
Social Plugin